บจ.แห่ลงทุนเหมืองบิทคอยน์ ZIGA เผย มีแผนลงทุนเครื่องขุดเป็นแสนเครื่อง ด้าน “บล.หยวนต้า” ชี้ บจ.สนใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เหตุ เพิ่มรายได้-กำไร-ราคาหุ้นตอบรับดี แย้ม บริษัทกลุ่มบริการจ่อประกาศลงทุนเพิ่ม
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ประกาศลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบัน (ณ 1 ก.พ.2565) มีมากกว่า 10 บริษัท โดยตั้งบริษัทย่อยเพื่อเข้าลงทุน เช่น ธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) ประกอบด้วย บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF), บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA), บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF), บมจ.โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (COMAN) และ บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS)
ขณะที่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) อยู่ระหว่างศึกษาร่วมทุนกับไบแนนซ์ลงทุนธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ส่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ ถือหุ้น บิทคับ ออนไลน์ ด้าน บมจ.บรุ๊คเคอร์ (ฺBROOK) ประกาศลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ฯลฯ
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มได้รับความสนใจจาก บจ.มากขึ้น เพราะหลายบริษัทมองเป็นช่องทางในการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้และกำไร อีกทั้งการประกาศลงทุนในธุรกิจดังกล่าวยังส่งผลบวกต่อราคาหุ้นของบริษัทอีกด้วย
ทั้งนี้ จากที่นักวิเคราะห์เข้าพบปะ (Visit) บจ. พบว่าหลายบริษัทในภาคการบริการ ได้แก่ กลุ่มสื่อบันเทิง กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มค้าปลีก มีแผนจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมในระยะต่อจากนี้ ทั้งในธุรกิจ Bitcoin Mining การออกเหรียญเพื่อใช้ในระบบนิเวศ (Ecosystem) และการออก NFT (Non-Fungible Token) อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก เพราะมีความคล่องตัวในการลงทุนมากกว่าบริษัทใหญ่ที่ต้องปรึกษาคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่ออนุมัติ
นายณัฐพล กล่าวว่า แม้หลายบริษัทจะมีความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่มีบางส่วนที่ประกาศลงทุนตามกระแสเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นตามประเด็นดังกล่าว จึงแนะนำนักลงทุนพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้าน ทั้งรายละเอียดของโครงการลงทุนว่าเป็นการขุดเหมืองฯ ที่มีการรับรู้รายได้ต่อเนื่อง หรือเป็นการเข้าลงทุนเหรียญเพื่อเก็งกำไรเท่านั้น รวมถึงประวัติของบริษัทในอดีต เช่น เดิมประกาศแผนการลงทุนไว้อย่างไร และสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ได้หรือไม่
นอกจากนี้ แม้หลายบริษัทจะมีการศึกษาเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมาแล้วอย่างดี แต่มีโอกาสประสบความสำเร็จจากการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากน้อยแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งโอกาสต่อยอด ความเชื่อมโยงกับธุรกิจเดิม และความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์ดิจิทัล
นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมที่เกี่ยวเนื่อง คือ ธุรกิจท่อเหล็กร้อยสายไฟ รวมถึงเป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับความสนใจด้านนวัตกรรมของบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายขยายกำลังการขุดเป็น 1,400-1,500 เครื่องในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ จากเริ่มต้นที่ 200 เครื่อง และตั้งเป้าหมายระยะยาวเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 แสนเครื่อง
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business