กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย. 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 2,062 ราย ในจำนวนนี้เป็นติดเชื้อในประเทศ 957 ราย แพร่ระบาดแล้วใน 54 จังหวัด และพบการแพร่ระบาดในทุกเขตสุขภาพ จับตาสายพันธุ์ย่อย
วันนี้ (4 ม.ค.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการจำแนกสายพันธุ์เฝ้าระวัง ตั้งแต่เปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 พบติดเชื้อโอมิครอนสะสมจำนวน 2,062 ราย คิดเป็น 19.08% โดยแบ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,150 ราย ติดเชื้อในประเทศ 957 ราย โดยขณะนี้พบการแพร่ระบาดของโอมิครอนแล้วใน 54 จังหวัด และพบการแพร่ระบาดในทุกเขตสุขภาพ
“การระบาดของโอมิครอนจะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต โดยการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาส่วนใหญ่ 70-80% ดังนั้น ต้องระวังกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ให้มาก เนื่องจากยังมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สำหรับการตรวจสายพันธุ์หาเชื้อโอมิครอน ขณะนี้จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยจะสุ่มตรวจหาเชื้อด้วยวิธี WGS (Whole Genome Sequencing ) ในบางรายเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจด้วยวิธี SNP (Single nucleotide polymorphisms) ไม่ผิดพลาด และมีความแม่นยำถึง 100% จึงไม่จำเป็นต้องยืนยันผลทุกราย
นพ.ศุภกิจ ยังได้กล่าวถึงการศึกษาของประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน ภายหลังการติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันสูงถึง 14-15 เท่า ซึ่งสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ติดเชื้อบางส่วนจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ (Neutralization) เชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ประมาณ 4 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว
ส่วนกรณีที่ประเทศฝรั่งเศสพบโควิดสายพันธุ์ที่มีความใกล้เคียงกับโอมิครอน คือ B.1.640.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ B.1.640 โดยสายพันธุ์นี้พบครั้งแรกในประเทศสหพันธรัฐคองโก ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. 64 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัด B.1.640 เป็น Variants under monitoring (VUM) หรือสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง
จากข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค. 65 พบสายพันธุ์ B.1.640 จำนวน 400 ตัวอย่างในฐานข้อมูล GISAID โดยพบส่วนใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศส จากการวิเคราะห์ทาง Phylogenetics พบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์โอมิครอน โดยสายพันธุ์ B.1.640 ณ ปัจจุบัน ได้แยกย่อยเป็น B.1.640.1 และ B.1.640.2 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสายพันธุ์หลักที่ระบาดในฝรั่งเศส ยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน
ในส่วนของสายพันธุ์ย่อย B.1.640 นั้น พบการกลายพันธุ์บน Spike protein ชนิด SNPs 14 ตำแหน่ง และการขาดหายไปอีก 9 ตำแหน่ง ซึ่งพบ N501Y และ E4840 ได้เหมือนในสายพันธุ์เบตา แกมมา และโอมิครอน ส่วนการกลายพันธุ์ F490S สามารถพบได้ในแลมป์ดา
“ขอให้ประชาชนยังไม่ต้องกังวลเนื่องจากการกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตาทุกๆ สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 ที่อาจพบในไทย” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อ้างอิง
https://mgronline.com